ครุฑ (สันสกฤต: गरुड) เป็นสัตว์กึ่งเทพในปกรณัมอินเดียและปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหากาพย์ มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคและทะเลาะกันจนเป็นศัตรู นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ปุราณะที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าพญาครุฑ
ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"
ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ
ครุฑพอจะแบ่งได้ 5 ประเภท
- ตัวเป็นคนอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่มีปีก
- ตัวเป็นคน หัวเป็นนก
- ตัวเป็นคน หัวและขาเป็นนก
- ตัวเป็นนก หัวเป็นคน
- รูปร่างเหมือนนกทั้งตัว
ครุฑในทางพุทธศาสนา
ครุฑในทางพุทธศาสนาจัดเป็นเทวดาชั้นล่างประเภทหนึ่งภายใต้การปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศใต้ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑเพราะทำบุญเจือด้วยโมหะ
ครุฑมีกำเนิดทั้ง 4 แบบ คือ โอปปาติกะ (เกิดแบบผุดขึ้น) ชลาพุชะ (เกิดในครรภ์) อัณฑชะ (เกิดในไข่) และสังเสทชะ (เกิดในเถ้าไคล) มีที่อยู่ตั้งแต่พื้นมนุษย์ ป่าหิมพานต์ ป่าไม้งิ้วรอบเขาพระสุเมรุ จนถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ครุฑชั้นสูงจะมีกำเนิดแบบโอปปาติกะ มีขนสีทอง มีเครื่องประดับแบบเทพบุตรเทพธิดา มีชีวิตอยู่เหมือนเทวดา แปลงกายได้ และบริโภคอาหารทิพย์เช่นเดียวกันเทวดา แต่ครุฑบางประเภทก็กินผลไม้หรือเนื้อสัตว์ บางประเภทถ้าผูกเวรกับนาค ก็จะกินนาคเป็นอาหาร หรือถ้าผูกเวรกับสัตว์นรกในยมโลก ก็จะสมัครใจไปเป็นนายนิรยบาลลงทัณฑ์สัตว์นรก
ชื่อของครุฑ
ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม
- กาศยปิ (บุตรแห่งพระกัศยปมุนี)
- เวนไตย (บุตรแห่งนางวินตา)
- สุบรรณ (ผู้มีปีกอันงาม)
- ครุตมาน (เจ้าแห่งนก)
- สิตามัน (ผู้มีหน้าสีขาว)
- รักตปักษ์ (ผู้มีปีกสีแดง)
- เศวตโรหิต (ผู้มีสีขาวและแดง)
- สุวรรณกาย (ผู้มีกายสีทอง)
- คคเนศวร (เจ้าแห่งอากาศ)
- ขเคศวร (ผู้เป็นใหญ่แห่งนก)
- นาคนาศนะ (ศัตรูแห่งนาค)
- สุเรนทรชิต (ผู้ชนะพระอินทร์)